...
...
...
...
...
...

วัดบ้านแปะ ราชวิสุทธาราม

   ตำบลบ้านแปะ เดิมมีราษฎรอาศัยอยู่ติดกับลำห้วยและเชิงเขาใกล้กับถ้ำแห่งหนึ่ง คือลำห้วยแม่แปะ  ชื่อลำห้วยตามภาษาถิ่นเหนือนั้นมีความหมายว่า แป๊ หมายถึง ชนะ โดยมีความเชื่อสืบต่อกันมาว่าลำน้ำแห่งนี้มีอาถรรพ์  หากข้ามลำห้วยนี้แล้วไม่ว่าจะมีคาถาอาคมกล้าแกร่งมากแค่ไหน  คาถาอาคม เหล่านั้นก็จะเสื่อมไป และมีน้ำไหลมาจากภูเขาที่ชื่อว่า ดอยขุนแปะ และถ้ำแห่งนี้เรียกว่า ถ้ำตอง โดยชาติพันธุ์ดั้งเดิมเป็นชนเผ่าลั๊วะ ราษฎรเลี้ยงชีพด้วยการทำกสิกรรมและหาของป่า ตามประวัติศาสตร์เมื่อประมาณ พ..2110 พระนางวิสุทธิเทวี ขัติยสตรีแห่งล้านนา ได้เสด็จมาทรงบูรณะวัดบ้านแปะ (ตรงกับสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ/ราชวงค์พระร่วง/สมัยกรุงศรีอยุธยา) พระธาตุบ้านแปะและทรงประทับ ณ พลับพลาชั่วคราวก่อสร้างด้วยกำแพงหินล้อมรอบ ชาวบ้านจึงเรียกสถานที่นี้ว่า เวียงหิน” พร้อมกัลปนาที่ดินและข้าวัดด้วยหลาบเงิน (จารึกที่เขียนลงบนแผ่นเงินหรือหิรัญบัตร) หมายถึงมอบถวายที่ดินและผู้คนไว้บำรุงรักษาของวัด บ้านแปะ  ห้ามไม่ให้อพยพโยกย้ายโดยวิธีการใดๆ ก็ตาม ปรากฏเป็นหลักฐานสืบทอดมาถึงปัจจุบัน เมื่อประชากรเริ่มมีความหนาแน่นจึงขยายออกไปตั้งบ้านเรือนกระจายอยู่ที่แห่งใหม่โดยรอบวัดบ้านแปะเดิม  ตามริมฝั่งแม่น้ำปิงและที่ราบระหว่างลำน้ำปิงและ   ลำน้ำแจ่ม ซึ่งเหมาะสมยิ่งสำหรับการทำเกษตรกรรม ต่อมาได้ขยายชุมชนใหญ่ขึ้น ทางราชการได้จัดตั้งเป็นหมู่บ้านและตำบล โดยเรียกตามชื่อเดิมของหมู่บ้านว่า ตำบลบ้านแปะ มาจนถึงปัจจุบัน  ทั้งนี้ประวัติศาสตร์  วัดบ้านแปะ  พระธาตุบ้านแปะ และที่ประทับเวียงหิน     หมู่ 4 บ้านแปะนั้น เทศบาลตำบลบ้านแปะจะได้ดำเนินการศึกษาค้นคว้าประวัติเพิ่มเติม เพื่อเป็นการแสดงถึงภูมิหลังอันมีเกียรติของคนในตำบลบ้านแปะ และจะผลักดันให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์  และเป็นข้อมูลให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป

 
พระนางวิสุทธิเทวี หรือ มหาเทวีวิสุทธิ ทรงเป็น ขัตติยราชนารีพระองค์หนึ่ง ที่สำคัญพระองค์หนึ่งของอาณาจักรล้านนา และ เป็นพระกษัตรีย์องค์สุดท้าย แห่ง ราชวงศ์มังรายก่อนที่การปกครอง อาณาจักรล้านนาจะตกไปสู่ การปกครองของ ราชวงศ์ตองอูมหาเทวีวิสุทธิ ได้ให้การยอมรับอำนาจของพม่า และ สนองนโยบายการขยายอำนาจ จาก ล้านนา ไปสู่ กรุงศรีอยุธยา และ ล้านช้าง โดยใช้ ล้านนา เป็นที่มั่น และ ส่งกองทัพ เข้าร่วมรบ กับ เชียงใหม่ในคราวเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2112 และ พ.ศ. 2117 เชียงใหม่ส่งกองทัพไปปราบล้านช้างเวียงจันทน์สองกองทัพ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอำนาจที่มีมากของ พระเจ้าบุเรงนอง รวมไปถึงพระราโชบาย เพื่อประคับประคองบ้านเมืองให้อยู่รอด ตลอดรัชสมัยของพระนาง
ด้วยที่ทรงพระราชฐานะ ที่พระนางเป็นเจ้านายอาวุโสตำแหน่งพระมหาเทวี หรือกษัตรีย์แห่งล้านนาที่ให้ความร่วมมือแก่พม่า พระนางจึงได้รับการยอมรับจากขุนนางพม่าที่มาปกครองเมืองเชียงใหม่ ดังการพบการได้รับเกียรติจากแม่ทัพพม่า ข้าหลวงชาวอังวะ และ หงสาวดี ที่มาประจำการในเชียงใหม่ เมื่อมีการหล่อพระพุทธรูปเมืองรายเจ้า พ.ศ. 2108 พระนางได้รับเกียรติเข้าร่วมทำบุญในฐานะ สมเด็จพระมหาเทวีเจ้าผู้ทรงเป็นใหญ่ในนพบุรี
พระนางวิสุทธิเทวี มีตำแหน่งเป็น มหาเทวีคือ เป็น "พระราชมารดาของกษัตริย์" ซึ่งถือว่ามีพระนางนั้นมีบทบาททางการเมืองสูงยิ่ง โดยมีหลักฐานยืนยันฐานันดรศักดิ์ของพระนาม ดังนี้ สมเด็จพระมหาเทวีเจ้า ผู้ทรงเป็นใหญ่(จารึกที่ฐานพระพุทธรูปวัดชัยพระเกียรติ) มหาอัครราชท้าวนารี (โคลงมังทรารบเชียงใหม่), พระนางมหาเทวี (พงศาวดารเชียงใหม่ฉบับภาษาพม่า), สมเด็จพระมหาราชเทวีบรมพิตรพระเป็นเจ้าอยู่หัว(ตราหลวงกุหลาบเงิน พ.ศ. 2110) และ มหาเทวี (ตำนานเมืองลำพูน)มหาเทวีวิสุทธิ ถือเป็นมหาเทวีที่มีบทบาททางการเมืองสูง เช่นเดียวกับมหาเทวีจิรประภา และ มหาเทวีสิริยศวดี (นางโป่งน้อย) โดยตำแหน่ง มหาเทวี บ่งบอกถึงความเป็น พระราชมารดา ของ พระมหากษัตริย์ และ เป็นที่แน่นอนว่า พระนาง ต้องเป็น พระราชมารดา ของ กษัตริย์ พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง แต่ด้วยพระราชประวัติอันมืดมน ซึ่ง ปรากฏบทบาทของพระองค์เพียงช่วงครองราชย์เท่านั้น ทำให้ไม่ทราบ และ ไม่มีข้อมูลที่แน่นอนเกี่ยวกับพระประวัติตอนต้นของพระองค์จึงกลายเป็นปริศนาที่ต้องค้นคว้าต่อไปและ มีการตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับตัวตนของพระนาง ดังต่อไปนี้
กรณีพระตนคำ แต่เดิมสรัสวดี อ๋องสกุล เคยสันนิษฐานว่า พระนางวิสุทธิเทวีเดิมมีพระนามว่า พระตนคำ พระราชธิดาในพระเมืองเกษเกล้าที่ พระเจ้าบุเรงนอง นำไปเป็นองค์ประกัน และ เรียนรู้วัฒนธรรมพม่า และ ภายหลังได้ตกเป็นมเหสีของพระเจ้าบุเรงนองโดยปริยายแต่เมื่อ ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ ได้สอบทำเนียบพระมเหสีของพระเจ้าบุเรงนองอย่างละเอียดก็มิพบนาม พระตนคำ, วิสุทธิเทวี หรือราชธิดาพระเจ้าเชียงใหม่เลยแต่อย่างใด แต่พบนามของสตรีเชียงใหม่ ตำแหน่งบาทบริจาริกานางหนึ่งความว่า "นางผู้เป็นชาวเชียงใหม่ (Zinme) นามว่าเคงเก้า (Khin Kank) ซึ่งให้กำเนิดพระธิดากับพระเจ้าบุเรงนองนางหนึ่งนามว่าราชมิตร"ภายหลังสรัสวดี อ๋องสกุล ได้เปลี่ยนความคิดใหม่และเห็นว่านรธาเมงสอมิใช่เชื้อพระวงศ์มังรายอย่างที่เข้าใจแต่พระนางเคงเก้าจะเป็นคนเดียวกับพระตนคำ หรือพระวิสุทธิเทวี หรือพระวิสุทธิเทวีจะเป็นคนเดียวกับพระตนคำหรือไม่ ยังคงเป็นปริศนาที่ต้องค้นคว้าต่อไปกรณีเป็นมารดาของนรธาเมงสอและเชื่อกันมาแต่เดิมว่า นางอาจเป็นมารดาของนรธาเมงสอพระราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนองซึ่งครองราชย์สืบต่อจากพระนาง ข้อสันนิษฐานเกิดจากการตีความโคลงบทหนึ่งของ "โครงเรื่องมังทรารบเชียงใหม่" ที่มีเนื้อความระบุว่า
"ได้แล้วภิเษกท้าว เทวี เป็นแม่มังทราศรี เร่งเรื่องเมืองมวลส่วยสินมี ตามแต่ เดิมเอ่บ่ถอดถอนบั้นเบื้อง ว่องไว้วางมวล"
นักภาษาศาสตร์ทั้ง ดร. ประเสริฐ ณ นคร และสิงฆะ วรรณสัย ถอดความดังกล่าวได้ว่า"แล้วอภิเษกมหาเทวี [มหาเทวีวิสุทธิ] ผู้เป็นแม่มังทรา [นรธาเมงสอ เจ้าเมืองสาวัตถี-ตามความเข้าใจของผู้แปล] ขึ้นเสวยราชย์เหมือนเดิม ให้รวบรวมสินส่งส่วยเหมือนแต่ก่อน ไม่ทรงถอดถอนออก แต่มอบอำนาจให้ปกครองเมืองทั้งสิ้น"
ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ ให้ความเห็นว่า "มังทรา" มาจากคำว่า "เมงตะยา" อันมีความหมายตรงตัวในภาษาพม่าว่า "ธรรมราชา" เป็นสมัญญานามที่ใช้ระบุ หรือ นำหน้ากษัตริย์พม่าทั่วไป และในโคลงบทที่ 12 นี้ ได้ใช้คำว่า มังทรา แทนพระเจ้าแผ่นดิน ดังนั้นคำว่า แม่มังทราศรี ก็จะหมายถึงแม่ของพระเจ้าแผ่นดิน และมิได้หมายความว่าจะต้องเป็นแม่ของพระเจ้าแผ่นดินองค์ถัดไป ซึ่งก็อาจจะเป็นมารดาของอดีตกษัตริย์ คือ พระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ก็เป็นไปได้
รวมทั้งโคลงบทที่ 15 ของเรื่องเดียวกันนั้นที่กล่าวถึงภูมิหลังของนรธาเมงสอ ก็ไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าเป็นพระโอรสของพระนางแต่อย่างใด เช่นเดียวกับตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, พงศาวดารเชียงใหม่ฉบับพม่า (Zinme Yazawin) หรือแม้แต่พงศาวดารโยนกก็มิได้ระบุเช่นกัน
ตรงกันข้าม จากการศึกษาของ ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ โดยใช้หลักฐานของพม่า คือ พงศาวดารมหายาสะวินเต๊ะ (Mahayazawinthet)กลับพบว่า พระมารดาของนรธาเมงสอ ชื่อ "ราชเทวี" มเหสีอันดับ 3 ของบุเรงนองพระนางเป็นธิดา ของ สตุกามณีแห่งดีมเยง มีนามเดิมว่า เชงทเวละ พระนางสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2106ก่อนที่พระเจ้าบุเรงนอง จะสถาปนา พระนางวิสุทธิเทวีครองเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2107 ฉะนั้นพระนางวิสุทธิเทวี จึงมิใช่พระมารดาของนรธาเมงสอ แต่ มหาเทวีวิสุทธิ อาจเป็นมารดาของพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์โดย ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ ได้ให้เหตุผลว่า เมื่อพระเจ้าบุเรงนองได้นำตัวพระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์ ไป หงสาวดี และ สถาปนามหาเทวีวิสุทธิ ซึ่งชราภาพแล้วครองล้านนาเพื่อที่มหาเทวีจะได้ไม่คิดแข็งเมืองต่อพม่า
ด้วยเหตุผลนี้พระเจ้าเมกุฏิสุทธิวงศ์อาจมีฐานะเป็นพระโอรสของมหาเทวีวิสุทธิก็เป็นได้
ในตำนานพระธาตุจอมทอง ได้กล่าวถึง ปี พ.ศ. 2099 ช่วงรัชสมัยของพระเจ้าเมกุ ซึ่งกษัตริย์และพระราชมารดาได้อัญเชิญพระบรมธาตุจอมทองเข้าไปพระราชวังที่เชียงใหม่ด้วยความเลื่อมใสจึงถวายข้าวของเงินทอง และกัลปนาคนเป็นข้าวัดพระธาตุจอมทอง
ดังปรากฏในความหน้าลานที่ 58-59 ปริวรรตความว่า
“...เมื่อนั้น พระราชบุตต์เจ้าอยู่เกล้าอยู่หัวตน เปนพระองค์ราชมาดามหาเทวี เจ้าทัง 2 พระองค์แม่ลูกทรงราชสัทธาจิ่งนิมนต์พระมหาธาตุเจ้าจอมทองเมือยังหดสรงในราชวัง ยินดีด้วยพระมหาธาตุเจ้าทัง 2 แม่ลูกก็หื้อยังมหาทานอันใหย่ คือว่า ข้าวของ เงินฅำ ข้าฅน ไร่นาที่ดิน ย่านน้ำ เครื่องทาน ขันสรง โกฎแก้วใส่ฅำประดับด้วยแก้วคอวชิระเพก (เพชร) และธารารับน้ำสรงแลสัพพเครื่องแหทังมวลอันพระรัตนราชเจ้าหื้อทานแล้วแต่ก่อน พระเป็นเจ้าทังสองแม่ลูกก็ซ้ำหื้อทานแถมเปนถ้วน 2 จิ่งพระราชอาชญาแก่มหาเสนาผู้ใหย่ทัง 4 คือว่า แสนหลวง สามล้าน จ่าบ้านเด็กชาย ว่า ตั้งแต่นี้ไปพายหน้าข้าพระเจ้าจอมทองนี้อย่าได้ใช้สอย...”
หลังพระนางวิสุทธิเทวีได้ขึ้นเสวยราชสมบัติ ก็เมื่อพระองค์ชราภาพแล้วเนื่องจากครองราชย์ได้เพียง 14 ปีก็สิ้นพระชนม์ โดยมีหลักฐานจากโคลงมังทรารบเชียงใหม่ที่ได้ระบุไว้ในโคลงบทที่ 13 ที่ได้กล่าวถึงพระนางวิสุทธิเทวีที่ยืนยันเกี่ยวกับการครองราชย์เมื่อชราภาพ และทำบุญเป็นประจำ ความว่า
มหาอัคคราชท้าว เทวียามหงอกกินบุรี ถ่อมเถ้าทำทานชู่เดือนปี ศีลเสพ นิรันดร์เอ่เห็นเหตุภัยพระเจ้า ราชรู้อนิจจา
แต่อย่างไรก็ตามพระนางวิสุทธิเทวีได้ปฏิบัติตนในฐานะกษัตรีย์ที่ดี ยังสามารถทำบุญสร้างวัด และกัลปนาผู้คนและที่ดินถวายเป็นสมบัติในพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับกษัตริย์องค์ก่อน ดังพบพระนางสร้างวัดราชวิสุทธาราม (หรือ วัดหลวงบ้านแปะ)ในเขตจอมทองใน พ.ศ. 2110 และ ได้ทำตราหลวงหลาบเงิน เพื่อไว้คุ้มครองชาวบ้านรากราน, กองกูน, ป่ารวก, อมกูดและบ้านแปะบก ทั้งคนลัวะ และ คนไทยให้เป็นข้าวัดทำหน้าที่ทางพุทธศาสนา ห้ามนำมาใช้งานใด ๆ เนื่องจากได้พระราชทานวัดแล้ว โดยในสมัยของพระเจ้าตลุนมิน หรือพระเจ้าสุทโธธรรมราชา ได้กวาดต้อนเชลยจากเชียงใหม่ พบว่ามีข้าวัดราชวิสุทธารามติดไปด้วย เมื่อพระองค์ทราบจึงได้สั่งให้ปล่อยตัวคืนกลับมาทุกคน
ในช่วงรัชสมัยของพระนาง พระนางได้ยอมรับ และ สนับสนุนพระราชอำนาจของราชสำนักบุเรงนองตลอดรัชกาลซึ่งแตกต่างจากนโยบายของท้าวแมกุ มีหลักฐานปรากฏอย่างชัดเจนว่าพระนางได้จัดทัพล้านนาไปช่วยพม่าทำศึก โดยเฉพาะเมื่อคราวตีกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2112 ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า
“...พลพระเจ้าหงสาวดียกมาครั้งนั้น คือพลพม่ามอญใน หงสาวดี อังวะ ตองอู เมืองปรวน และ เมืองประแสนิว เมืองกอง เมืองมิต เมืองตะละ เมืองหน่าย เมืองอุมวง เมืองสะพัวบัวแส และเมืองสรอบ เมืองไทยใหญ่ อนึ่งทัพเชียงใหม่ นั้น พระเจ้าเชียงใหม่ประชวร จึงแต่งให้พระแสนหลวงพิงชัยเป็นนายกองถือพลลาวเชียงใหม่ทั้งปวง มาด้วย พระเจ้าหงสาวดีเป็นทัพหนึ่ง...”
และในปี พ.ศ. 2117 เชียงใหม่ได้ส่งทัพไปปราบล้านช้างเวียงจันทน์สองทัพเป็นไปได้ว่า พระนางวิสุทธิเทวีทรงยึดมั่นในความจงรักภักดีต่อพระเจ้าบุเรงนอง ที่สอดประสานกับนโยบายของผู้ปกครองพม่าที่มุ่งประคับประคองมิตรภาพของสองอาณาจักรให้ยั่งยืน พม่าจึงไม่แทรกแซงปรับเปลี่ยนจารีตท้องถิ่น แต่ยังศึกษาและปกปักจารีตท้องถิ่น ซึ่งส่งผลทางอ้อมต่อการคงไว้ซึ่งความอยู่รอดของบ้านเมือง อาณาราษฎร และคงอยู่ซึ่งอำนาจของพระนางเองถึงแม้ว่าพระราชอำนาจของพระนางจะมีขีดจำกัดแต่ด้วยพระอัจฉริยภาพหยั่งรู้สถานการณ์ แม้ว่าโครงสร้างราชวงศ์จะขาดความมั่นคงแต่ล้านนาก็จะคงอยู่ได้ด้วยพระราชอำนาจและบารมีของพระเจ้าบุเรงนอง ผู้ที่ซึ่งเจ้าแผ่นดินในรัฐจารีตร่วมสมัยมิอาจแข่งขันได้
อย่างไรก็ตามพระราชอำนาจของพระนางนั้น ยังได้รับการยอมรับจากขุนนางพม่าที่มาปกครองเชียงใหม่ ดังพบการได้รับเกียรติจากแม่ทัพพม่าและ ข้าหลวงชาวอังวะ และ หงสาวดี ที่ประจำการในเชียงใหม่ เมื่อมีการหล่อพระพุทธรูปเมืองรายเจ้า พ.ศ. 2108 พระนางได้รับเกียรติเข้าร่วมทำบุญในฐานะ "สมเด็จพระมหาเทวีเจ้าผู้ทรงเป็นใหญ่ในนพบุรี"
พระนางวิสุทธิเทวีได้พิราลัย เมื่อ พ.ศ. 2121 โดยในตำนานเมืองลำพูนได้กล่าวถึงมหาเทวีที่กิน 14 ปีก็พิราลัย ดังความว่า
"...ในปีร้วงไค้ ได้อาราทนาราชภิเสก ๒ หน มหาเทวีรักษาเมืองเชียงใหม่ได้ ๑๔ ปี สุรคุตในปีเปิกยี..."พระนางได้รับการถวายเกียรติยศโดยสร้างปราสาทเป็นที่ตั้งพระศพตั้งบนหลังนกหัสดีลิงค์ และใช้ช้างลากปราสาทศพ โดยเจาะกำแพงเมืองออกไปฌาปนกิจที่วัดโลกโมฬี ถือกันว่าการทำศพครั้งนี้เป็นแบบอย่างการปลงศพเจ้านายเมืองเหนือสืบมา ดังปรากฏความว่า"นางวิสุทธิราชเทวีผู้ครองนครพิงค์เชียงใหม่ถึงพิราลัยพระยาแสนหลวงแต่งการศพทำเป็นพิมานบุษบก ตั้งบนหลังนกหัสดินทร์ขนาดใหญ่รองด้วยเลื่อนแม่สะดึงเชิญหีบพระศพขึ้นไว้ในบุษบกนั้น แล้วฉุดชักไปด้วยแรงคชสาร เจาะพังกำแพงเมืองไปถึงทุ่งวัดโลก ก็กระทำฌาปนกิจถวายพระเพลิง ณ ที่นั่นเผาพร้อมทั้งรูปสัตว์และวิมานที่ทรงศพนั้นด้วยจึงเป็นธรรมเนียมลาวในการปลงศพเจ้าผู้ครองนครทำเช่นนี้สืบกันมา"
และ แม้พระนางวิสุทธิเทวีอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าแต่พระนางก็ได้รับการปฏิบัติอย่างสมพระเกียรติ ด้วยพระอัจฉริยภาพในการดำเนินนโยบายด้านการปกครองอย่างระมัดระวังและประนีประนอมแต่ก็รักษาพระเกียรติยศไว้อย่างสมบูรณ์จนสิ้นรัชกาล
 
อ้างอิง จากวิกิพีเดีย พระนางวิสุทธิเทวี
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด). พระนคร:สำนักพิมพ์คลังวิทยา, 2507, หน้า 96
Tun Aung Chian. Chiang Mai in Bayinnaung's Polity, pp 70
สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:อมรินทร์, 2552. หน้า 275
ดร.ฮันส์ เพนธ์, ศรีเลา เกษพรหม และอภิรดี เตชะศิริวรรณ. จารึกวัดวิสุทธาราม. เรียกดูเมื่อ 6 พฤษภาคม 2556
ล้านนาคดีสัญจร:ตามรอยโคลงมังทรารบเชียงใหม่ (ชมรมล้านนาคดีเชียงใหม่ 2533) หน้า 15
สรัสวดี อ๋องสกุล ศาสตราจารย์. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:อมรินทร์, 2552. หน้า 272
สุเนตร ชุตินธรานนท์. ดร. พม่ารบไทย. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ:มติชน, 2554. หน้า 295-296
สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. กรุงเทพฯ:อมรินทร์, 2539. หน้า 236-237
สุเนตร ชุตินธรานนท์. ดร. พม่ารบไทย. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ:มติชน, 2554. หน้า 294